ยูเอ็นวีเมน และ เอส เอฟ ปลุกกระแสต่อต้านความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก คัดสรร 9 ภาพยนตร์สะท้อนสังคมคุณภาพเยี่ยม ใน “เทศกาลภาพยนตร์เพื่อรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็กหญิง”

แอนนา คาริน เจลฟอร์ ผู้จัดการโปรแกรมยุติความรุนแรงต่อเพศหญิง ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก องค์การเพื่อความเสมอภาคระหว่างเพศและเสริมพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women)ร่วมกับ สุวรรณี  ชินเชี่ยวชาญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด บริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) จัดพิธีเปิด เทศกาลภาพยนตร์เพื่อรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็กหญิง (Bangkok International Film Festival on Ending Violence against Women and Girls)ครั้งแรกในประเทศไทย โดยคัดสรรภาพยนตร์คุณภาพเยี่ยม 9 เรื่องจาก 8 ประเทศ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการรณรงค์เพื่อสิทธิสตรี พร้อมด้วยบทบรรยายภาษาไทย โดยเปิดให้ชมฟรี ทุกเรื่องทุกรอบ จัดฉายตั้งแต่วันนี้ถึง 2พฤศจิกายน 2558 โดยได้รับเกียรติจาก พอล โรบิลลียาร์ด เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย พร้อมดาราเซเลบริตี้ อาทิ สายป่าน-อภิญญา สกุลเจริญสุข, ผู้พันเบิร์ด-พ.ต.วันชนะ สวัสดี, จย์ สเปนเซอร์เปิ้ล-จริยดี สเปนเซอร์ และอีกมากมายร่วมงาน ณโรงภาพยนตร์เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

เทศกาลภาพยนตร์เพื่อรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็กหญิง หรือ Bangkok International Film Festival on Ending Violence againstWomen and Girls นับเป็น 1 ในกิจกรรมภายใต้โครงการ 16 วันแห่งการรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรงทางเพศ” ที่ทางองค์การเพื่อความเสมอภาคระหว่างเพศและเสริมพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women) จัดขึ้นเนื่องใน วันรณรงค์ยุติคความรุนแรงต่อสตรีสากล ในวันที่ 25 พฤศจิกายน ซึ่งได้มีการจัดการรณรงค์ขึ้นทั่วโลกระหว่างวันที่ 25 พฤศจิกายน ถึง 10 ธันวาคม 2558ซึ่งเป็น “วันมนุษยธรรมโลก” โดยนอกจากเทศกาลภาพยนตร์เพื่อรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็กหญิง ทาง ยูเอ็นวีเมน และ เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า ยังมีการจัดนิทรรศกาลเพื่อรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ระว่างวันที่ 26-29 พฤศจิกายน 2558  ที่ชั้น 9 โซน D โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

สำหรับภาพยนตร์ภายใน เทศกาลภาพยนตร์เพื่อรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็กหญิง(Bangkok International Film Festival on Ending Violence against Women and Girls) เริ่มต้นกันที่ Ilo Ilo ภาพยนตร์คุณภาพจากประเทศสิงคโปร์ที่ไปชนะรางวัล ที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ปี 2013 เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปาล์มสปริง ปี 2014 พร้อมได้รับการเสนอชื่อและรับรางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติอื่นๆ อีกมากมาย เป็นหนังที่บอกเล่าเรื่องราวของ สิงคโปร์ ในปี 1997 ช่วงวิกฤตเศรฐกิจต้มยำกุ้ง เทเรสซ่า แรงงานชาวฟิลิปินส์ ได้เริ่มงานในฐานะ “พี่เลี้ยง” ของลูกชายเจ้าปัญหา กับพ่อแม่ที่มีแต่เรื่องน่าปวดหัว และเมื่อปัญหาทางการเงินได้เริ่มมีผลต่อครอบครัวชนชั้นกลางที่เคยสุขสบายนี้ การเข้ามาอยู่ในครอบครัวของเทเรสซ่ากลับยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ในบ้านนี้เลวร้ายลง 

When we leave ภาพยนตร์ดรามาเข้มข้นที่ชนะรางวัลในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน เรื่องราวที่เกิดขึ้นในประเทศเยอรมัน ของ ยูเม หญิงสาวเชื้อสายตุรกี ที่ต่อสู้เพื่ออิสรภาพ และเพื่อกำหนดชะตาชีวิตของตนเอง และลูกชาย การต่อสู้ของเธอได้สร้างแรงกระเพื่อม และทำให้เธอตกอยู่ในสถานการณ์ที่ร้ายแรงถึงชีวิต

หรือภาพยนตร์จากเมืองน้ำหอมเรื่อง Girlhoodที่ได้รับเลือกให้เป็นหนังเปิดของสายไดเร็คเตอร์ส ฟอร์ทไนท์ ของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ปี 2014เป็นเรื่องราวที่สะท้อนถึงชีวิตของวัยรุ่นผิวสีในสังคมฝรั่งเศสยุคปัจจุบัน ตัวเอกของเรื่องคือมาเรียม เด็กสาวผิวสีที่หัวไม่ดีจนยากที่จะเรียนต่อ ขณะที่ครอบครัวของเธอก็มักทำร้ายร่างกายเธอ จนกระทั่งเมื่อเธอได้พบกับเพื่อนใหม่สามคนที่โรงเรียน เธอจึงได้เข้าร่วมแก๊งค์กับเด็กพวกนั้น เธอเปลี่ยนชื่อ ลาออกจากโรงเรียน และเริ่มขโมยของเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากกลุ่มเพื่อน สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด จะทำให้มาเรียมได้เรียนรู้ถึงมิตรภาพ และการเติบโตเป็นผู้ใหญ่

ต่อกันที่ Brave Miss World ภาพยนตร์สารคดีที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล ไพรม์ไทม์ เอ็มมี อวอร์ดสเมื่อปีที่ผ่านมา เรื่องราวของ ลินอร์ อบากิล มิสเวิลด์ ปี 1998 ที่ถูกลักพาตัว ทำร้าย และถูกข่มขืนในมิลาน อิตาลี เมื่อเธออายุ 18 ปี แต่เพียงหกสัปดาห์ ก่อนที่เธอจะได้รับตำแหน่งมิสเวิลด์ แทนที่เธอจะเก็บตัวเงียบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เธอกลับออกเดินทางต่อสู้เพื่อความยุติธรรม และให้กำลังใจผู้อื่นให้ลุกขึ้นต่อสู้กับความรุนแรงทางเพศ 

และ Refugiado ภาพยนตร์ดรามาที่ชนะรางวัลในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติชิคาโกในปที่ผ่านมา เรื่องราวของ มาทิอาส เด็กชายเจ็ดขวบ และ ลอร่า แม่ที่กำลังตั้งท้อง ต้องจากบ้านของพวกเขา เพื่อหนีจากความรุนแรงจากผู้เป็นพ่อ และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางเพื่อเสาะหาที่อยู่ใหม่ ที่ทำให้พวกเขาไม่ต้องรู้สึกถึงภัยคุกคามอีกต่อไป

นอกจากนี้ยังมีภาพยนตร์ที่สะท้อนการต่อต้านความรุนแรง และการต่อสู้เพื่อสิทธิเด็กและสตรีอีกมากมายให้ทุกท่านได้เลือกชม อาทิ Dukhtar(ภาพยนตร์ที่ได้รับเสนอชื่อ สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศเพื่อคัดเลือกรางวัลออสก้าในปีนี้ จากประเทศปากีสถาน)Te Doy Mis Ojos (ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมปี 2003 จากประเทศสเปน), Girl Risingและ Private Violence เป็นต้น

เทศกาลภาพยนตร์เพื่อรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็กหญิง (Bangkok International Film Festival on Ending Violence against Women and Girls) ในครั้งนี้จัดฉายพร้อมบทบรรยายไทย โดยเปิดให้ชมฟรี ทุกเรื่อง ทุกรอบตั้งแต่วันที่ 26 – 2พฤศจิกายน 2558 ณโรงภาพยนตร์เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ โดยสามารถรับบัตรชมภาพยนตร์ฟรีได้ที่จุดประชาสัมพันธ์เทศกาลภาพยนตร์ฯ บริเวณหน้าโรงภาพยนตร์ 30 นาทีก่อนรอบฉาย นอกจากนี้ยังมีการจัดงานเสวนารณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็กหญิง โดยวิทยากรผู้ทรงเกียรติจากทาง ยูเอ็นวีเมน ผู้สนใจสามารถตรวจสอบรอบฉายได้ที่ www.sfcinemacity.com และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ SF Call Center 02-268-8888 และwww.facebook.com/Welovesf หรือติดตามความเคลื่อนไหวของเทศกาลอย่างใกล้ชิดได้ที่แฮชแท็ก #EVAWOFILMFEST 

 








ความคิดเห็น